พาไปดูเครื่อง Singapore Airlines กับเส้นทางบินที่ยาวที่สุดในโลก!
The Secret Behind “World’s Longest Flight”
วันนี้เพื่อนเที่ยวขอเสนอสกู๊ปพิเศษซึ่งเราจะพาไปดูเครื่องบินรุ่น A350-900ULR ของสายการบินที่ถูกจัดอันดับว่าดีสุดสายการบินหนึ่งไม่ว่าจะผลสำรวจจากไหนก็ตาม นั่นคือสายการบิน สิงคโปร์แอร์ไลน์ส (Singapore Airlines) หรือ SQ นั่นเองครับ ว่าเส้นทางจากสิงคโปร์ไปอเมริกานั้นเครื่องรุ่นใหม่ที่มีเฉพาะ Premium Economy และ Business Class นั้นจะสุดยอดขนาดไหน ไปชมกันเลยครับ
ย้อนกลับไปเมื่อในวันที่ 11 ตุลาคม 2561 กับปรากฎกาณ์ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการบินทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์สได้เปิดให้บริการเที่ยวบินปฐมฤกษ์ไฟลท์ SQ22 เส้นทางสิงคโปร์ (ชางฮี) ตรงสู่เมืองนิวยอร์ค (นูอาร์ค ลิเบอร์ตี้) ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส A350-900ULR (Ultra Long Range) โดยไม่มีการจอดแวะพัก ด้วยระยะทางกว่า 16,700 กิโลเมตร (9,000 นอติคอลไมล์) รวมชั่วโมงบินยาวนานกว่า 18:45 ชั่วโมง จนทำให้เที่ยวบินนี้ได้รับการยกตำแหน่งให้เป็น “เที่ยวบินพาณิชย์ที่ยาวที่สุดในโลก” ในปัจจุบัน
แต่การจะทำความเข้าใจถึงความเป็นมาของเที่ยวบินนี้ ต้องย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นถึงที่มาที่ไปก่อนว่าทำไมสิงคโปร์แอร์ไลน์สถึงได้กลับมาให้บริการเที่ยวบินที่ยาวที่สุดในโลกอีกครั้ง หลังจากที่หยุดให้บริการเส้นทางบินตรงดังกล่าวไปเมื่อปี 2556 จากการปลดประจำการของเครื่องบินแอร์บัส A340-500 ในยุคน้ำมันแพง และอะไรคือความลับที่ซ่อนอยู่หลังการให้บริการ “เที่ยวบินพาณิชย์ที่ยาวที่สุดในโลก” เส้นทางนี้ เอาเป็นว่าเรามาออกเดินทางไปค้นหาเบื้องหลังก่อนที่จะมาเป็นเที่ยวบินนี้ไปด้วยกันเลยดีกว่า
ช่วงบ่ายวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2561 หรือเพียงแค่เดือนเศษหลังจาก “เที่ยวบินพาณิชย์ที่ยาวที่สุดในโลก” ได้เริ่มเปิดให้บริการ Admin มีโอกาสได้เข้าไปบุกถ้ำเสือกันถึง Singapore Airlines Training Center ที่ตั้งอยู่ใกล้กับสนามบินชางฮี ประเทศสิงคโปร์ เพื่อย้อนกลับไปทำความเข้าใจถึงเบื้องหลังของการบริการของเที่ยวบินนี้ ซึ่งนับเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เพราะปรกติแล้วพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ปิดที่มีการรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง เรียกว่าถ้าไม่ใช่พนักงานหรือลูกเรือของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์สแล้วละก็คงยากที่จะได้มาเยือนกัน
สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์สสั่งซื้อแอร์บัส A350-900URL จำนวน 7 ลำ ด้วยความฝันที่จะนำมาให้บริการในเส้นทางบินตรงแบบ non-stop อันภาคภูมิใจสู่ 3 เมืองใหญ่ในทวีปอเมริกาเหนืออีกครั้ง คือ นิวยอร์ค ลอสแองเจลลิส และซานฟรานซิสโก โดยได้รับมอบเครื่อง A350-900URL ลำแรกเข้าสู่ฝูงบินเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาในฐานะ Launch Customer ของเครื่องบินแห่งอนาคตรุ่นใหม่ลำนี้ และจะทยอยรับมอบจนครบทั้ง 7 ลำ ภายในปลายปี 2561 โดยในช่วงแรกนั้นทางสายการบินได้นำมาให้บริการในเส้นทางบินตรงสู่นิวยอร์คด้วยความถี่ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ก่อนจะนำมาเปิดให้บริการในอีก 2 เส้นทางบินตรงที่เหลือต่อไป
แม้ว่า A350 จะถือว่าเป็นเครื่อง Wide Body ที่สามารถจุผู้โดยสารมากถึงกว่า 300 คน ได้แต่เครื่อง A350-900URL ของสิงคโปร์แอร์ไลน์สนั้นมีความพิเศษอยู่ตรงการจัดวางห้องโดยสารที่ออกแบบให้มีเพียง 2 ชั้นโดยสารเท่านั้น (2 Configurations) คือ ชั้นธุรกิจ (Business Class) จำนวน 67 ที่นั่ง และชั้นประหยัดพิเศษ (Premium Economy) จำนวน 94 ที่นั่ง รวมทั้งหมด 161 ที่นั่ง
มร.อึง ยูง ฮัน รองประธานฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ส เปิดเผยกับ Friend Tell Pro ว่าโจทย์ใหญ่ของการออกแบบห้องโดยสารของเครื่อง A350-900ULR นั้นคือ “ทำอย่างไรเพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายสูงสุดระหว่างการเดินทาง” โดยเฉพาะกับเที่ยวบินที่มีระยะทางไกล ต้องเดินทางข้ามทวีป บินผ่านน่านฟ้าของหลายประเทศ และข้ามหลาย Time Zone รวมแล้วเป็นเวลากว่า 17 ชั่วโมงบินด้วยกัน ซึ่งจากผลสำรวจของผู้โดยสารที่เคยเดินทางกับสิงคโปร์แอร์ไลน์ส รวมทั้งประสบการณ์การให้บริการในเส้นทางดังกล่าวด้วยเครื่องบินแอร์บัส A340-500 ที่เคยมีมาอยู่ก่อนแล้ว พบว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่ผู้โดยสารต้องการมากที่สุดไม่ใช่เรื่องของเลาจ์หรือห้องอาบน้ำบนเครื่องบินแต่อย่างใด แต่กลับเป็นคำตอบง่ายๆ และสัมผัสได้จริงอย่างเรื่องของความกว้างและขนาดของเก้าอี้โดยสารที่มีความสะดวกสบายมากกว่า เพราะคือสิ่งที่ผู้โดยสารต้องใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุดบนเที่ยวบิน
โดย Key Focus หลักนั้นได้มุ่งไปที่การออกแบบเก้าอี้นั่งของชั้นประหยัดพิเศษที่มีจำนวนมากที่สุดบนเครื่อง และจากการทำงานหนักร่วมกับพาร์เนอร์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ในที่สุดทางสายการบินก็ได้เลือกใช้เก้าอี้ของ Zodiac Seats US ที่มี Seat Pitch 38 นิ้ว และปรับเอนได้ 8 นิ้ว จัดวางแบบ 2-4-2 เพื่อความสะดวกสบายสูงสุดของผู้โดยสาร พร้อมที่วางแขนระหว่างที่นั่งแบบยึดตรึงเพิ่มความเป็นส่วนตัวและให้ความรู้สึกพรีเมี่ยม โดยทุกที่นั่งมาพร้อมกับพื้นที่เก็บของ หัวชาร์ท USB และทีวีส่วนตัวขนาดหน้าจอ 13.3 นิ้ว ของ Panasonic รุ่นใหม่ล่าสุด Generation eX3 ที่แน่นอนว่าเป็นระบบเดียวกันกับของที่นั่งชั้นธุรกิจ พร้อมระบบความบันเทิง KrisWorld อันภาคภูมิใจของสิงคโปร์แอร์ไลน์ส ที่มีเนื้อหาความบันเทิงให้ชมกันแบบ non-stop ถึงกว่า 1,000 ชั่วโมง
ส่วนชั้นธุรกิจนั้นเป็นที่นั่งโดยสารตัวใหม่ล่าสุดของสิงคโปร์แอร์ไลน์ที่เพิ่งมีการเริ่มใช้งานไปก่อนหน้านี้ไม่นานนัก ได้รับการออกแบบโดย James Park Associates สำนักออกแบบเดียวกันกับที่ออกแบบห้องโดยสารชั้น First Class SkySuite ของทางสายการบินฯ และขบวนรถไฟ Eastern & Orient Express มีการจัดวาง 1-2-1 แบบ Forward-Facing เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเข้าถึงทางเดินได้จากทุกจุด แต่ละที่นั่งมีความกว้างถึง 28 นิ้ว ยาว 78 นิ้ว ที่ทางสายการบินเครมว่าเป็นหนึ่งในชั้นธุรกิจที่กว้างขวางที่สุดในอุตสาหกรรมการบิน เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถปรับเอนนอนในท่าทางปรกติได้เหมือนกับการนอนที่บ้าน ส่วนระบบความบันเทิงเป็นของ Panasonic Generation eX3 เช่นเดียวกัน มาพร้อมกับหน้าจอขนาดใหญ่ถึง 18 นิ้ว หัวปลั๊กไฟสำหรับโน๊ทบุ๊ค หัวชาร์ท USB และพอร์ท HDMI และที่พิเศษยิ่งขึ้นคือผู้โดยสารชั้นธุรกิจทุกคนยังจะได้รับ Complimentary Wifi On-board อีกด้วย เพียงแค่ล๊อกอินด้วยนามสกุลและหมายเลขที่นั่งบนเที่ยวบินก็สามารถใช้งานอินเตอร์เน็ทความเร็วสูงกันได้แล้ว
นอกจากนั้น ความลับอีกอย่างที่ช่วยให้ผู้โดยสารรู้สึกสะดวกสบาย และผ่อนคลายตลอดการเดินทางบนเครื่อง A350-900ULR ลำนี้มีระบบในการปรับความดันห้องโดยสารให้อยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับบนพื้นดินที่ระดับความสูง 6,000 ฟุตจากระดับน้ำทะเล ซึ่งโดยปกติแล้วเครื่องบินโดยสารส่วนใหญ่ที่มีให้บริการในปัจจุบันจะสามารถปรับความดันได้เทียบเคียงกับสภาพอากาศที่ความสูง 8,000 ฟุตเท่านั้น แต่ด้วยความพิเศษของเครื่องแอร์บัส A350 ที่ผลิตจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ จึงทำให้โครงสร้างของตัวเครื่องบินมีความแข็งแรงสามารถรองรับความแตกต่างของความดันจากภายในและภายนอกห้องโดยสารได้มากกว่า ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ผู้โดยสารรู้สึกสดชื่น เฟรชอยู่ตลอดเวลา เป็นผลดีกับการเดินทางที่ต้องอยู่บนเครื่องบินเป็นระยะเวลานาน และยังช่วยให้อาหารที่เสิร์ฟมีรสชาติอร่อยยิ่งขึ้นอีกด้วย…เอ๊ะ!!! อ่านมาถึงตรงนี้คงจะงงว่าเรื่องของความดันบนเครื่องจะเกี่ยวอะไรกับเรื่องความอร่อยของอาหาร เอาเป็นว่าเดี๋ยวตาม Admin ไปค้นหาความจริงกันต่อเลยดีกว่า
“โภชนาการบนเที่ยวบิน” หัวใจสำคัญของการเดินทางไกล
“บนเครื่องเค้ามีอะไรให้กินก็กินๆ ไปเถอะ” คงไม่ใช่คำจำกัดความของการบริการบนเที่ยวบิน SQ21/22 อย่างแน่นอน เพราะทุกอย่างที่เสิร์ฟบนเที่ยวบินนี้ ล้วนได้รับการคัดสรรและคำนวนเป็นอย่างดีมาเรียบร้อยแล้ว พร้อมเมนูอาหารที่มีให้เลือกกันอย่างเต็มที่จุใจ ซึ่งในโอกาสนี้ เชฟแอนโทนี่ หัวหน้าพ่อครัวของสิงคโปร์แอร์ไลน์สได้ลงทุนเปิดครัว Inflight Catering Center ให้เราได้เข้าไปชมความลับเบื้องหลังเมนูอาหารอันแสนตระกาฬตา ที่บอกเลยว่ามีความ “พิเศษ” มากกว่าการให้บริการในเที่ยวบินอื่นจริงๆ เพราะทางสายการบินลงทุนจ้างที่ปรึกษาด้านโภชนาการระดับโลกอย่าง Canyon Ranch – Wellness Architects จากประเทศอเมริกา ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการสุขภาพและการบริการสปาให้กับโรงแรมหรือเรือเดินสมุทรชั้นนำ มาช่วยดูแลภาพรวมของการบริการบนเที่ยวบินระยะไกลที่ให้บริการด้วยเครื่อง A350-900URL โดยเฉพาะ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้โดยสารจะได้รับไม่ใช่แค่เพียงความสะดวกสบายเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องรวมถึงการมีสุขภาพและสุขอนามัยที่ดี (well-being) ระหว่างการเดินทางข้ามทวีปบนเที่ยวบินพาณิชย์ที่ได้ชื่อว่ายาวที่สุดในโลกอีกด้วย เพราะแน่นอนว่าตลอดเส้นทางบินที่ต้องบินผ่านผืนมหาสมุทรอันเวิ้งว้าง หรือบินผ่านผืนน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนืออันกว้างใหญ่แบบนี้ คงไม่มีใครอยากป่วยกระทันหันจนต้องแวะหาสนามบินลงจอดระหว่างการเดินทางแน่ๆ (ซึ่งแน่นอนว่าไม่มี หรือถ้ามีก็ต้องบินไปไกลมาก)
การบริการบนเที่ยวบินนี้ได้รับการวางโจทย์เอาไว้ให้เป็นการเสิร์ฟอาหารในแบบ Restaurant Style ที่ทุกอย่างนั้นจะต้องออกมาสมบูรณ์แบบและสวยงามเพื่อสร้าง Dining Experience ให้เหมือนกับการนั่งทานอาหารภายในภัตตาคาร แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างนั้นจะดูง่ายไปซะทั้งหมด เพราะการทำอาหารสำหรับเสิร์ฟบนเครื่องบินนั้นไม่เหมือนการทำในร้านอาหารทั่วไปที่เมื่อปรุงเสร็จแล้วก็จัดใส่จานเสิร์ฟได้เลย หากแต่ต้องมีขั้นตอนที่ซับซ้อนมากกว่าอีก 2-3 เท่าให้คำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งจานในขนาดภาชนะที่จำกัด การนำไปแช่เย็นอีกครั้งเพื่อเป็นการถนอมอาหารและป้องกันการเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ระยะเวลาในการจัดส่ง รวมถึงการนำมาอุ่นซ้ำใหม่อีกครั้งบนเครื่องบิน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงทั้งหมดเพื่อให้อาหารออกมายังคงมีรสชาติดีแม้จะอยู่บนความสูงกว่า 40,000 ฟุตก็ตาม
โดยก่อนหน้านี้ สิงคโปร์แอร์ไลน์สเคยทำแบบสอบถามกับผู้โดยสารที่เดินทางในเส้นทางบินสู่ซานฟรานซิสโก พบว่าส่วนใหญ่แล้วผู้โดยสารพึงพอใจที่จะได้รับบริการต่างๆ ตลอดทั้งเที่ยวบิน ไม่ใช่แค่เพียงตามช่วงเวลาที่สายการบินจัดเอาไว้ให้ ดังนั้นในเส้นทางบินตรงสู่นิวยอร์คจึงได้มีการจัดสรรบริการต่างๆ เอาไว้ให้เต็มที่ตลอดเวลาตั้งแต่เครื่องเทคออฟเสร็จ รวมทั้งการบริการอาหาร ในแต่ละมื้อนั้นจะมีตัวเลือกให้ถึง 3 เมนูด้วยกัน (แต่ถ้าอยากพักผ่อนก็แจ้งลูกเรือไว้ก่อนได้ว่าไม่ต้องการรับอาหาร)
โดยสิ่งที่ Canyon Ranch เข้ามาคือช่วยดูแลภาพรวมทั้งหมดของการบริการบนเครื่องบิน โดยเฉพาะการสร้างความสมดุลให้กับอาหารแต่ละมื้อ ว่าช่วงเวลาไหนผู้โดยสารควรจะต้องทานอะไร ด้วยปริมาณเท่าไหร่ เพื่อให้ร่างกายได้รับไขมันหรือแคลอรี่ในจำนวนที่เหมาะสม รวมทั้งการจัดสรรช่วงเวลาของการให้บริการต่างๆ ระหว่างเที่ยวบิน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้โดยสารได้รับช่วงเวลาของการพักผ่อนที่เหมาะสมและดีต่อสุขภาพ เพื่อสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ดีให้กับทุกคนบนเที่ยวบิน ซึ่งในเที่ยวบินปฐมฤกษ์นั้นทาง Canyon Ranch ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นมาดูแลความเรียบร้อยบนเที่ยวบินด้วยเช่นกัน ซึ่งผลตอบรับส่วนใหญ่จากผู้โดยสารทั้งสองฝั่ง (อเมริกา และสิงคโปร์) ก็ออกมาเป็นที่น่าพอใจ คุ้มค่ากับสิ่งที่สิงคโปร์แอร์ไลน์สได้ลงเดิมพันเอาไว้
และอย่างที่ได้เกริ่นเอาไว้ก่อนหน้านี้เรื่องการปรับความดันภายในห้องโดยสารให้อยู่ในระดับ 6,000 ฟุตนั้น ยังมีส่วนช่วยให้รสชาติอาหารมีความกลมกล่อมใกล้เคียงกับการรับประทานบนพื้นดินมากขึ้นอีกด้วย เพราะต่อมรับรสบนลิ้นจะสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ใกล้เคียงกับสภาพอากาศเบื้องล่าง จึงทำให้การทานอาหารไม่รู้สึกจืดชืด แต่ถึงแม้จะมีตัวช่วยที่ดีแค่ไหน สิงคโปร์แอร์ไลน์สก็ยังไม่ยอมปล่อยให้ทุกอย่างหลุดออกไปจากการควบคุมที่ดี เพราะที่ครัวการบินอันทันสมัยแห่งนี้ยังมีห้องปรับความดัน เพื่อใช้ทดสอบการรับประทานอาหารบนที่สูงในสภาวะที่คล้ายกับการนั่งรับประทานอยู่บนเครื่องบินอีกด้วย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าอาหารทุกเมนู ไวน์ทุกชนิดที่เตรียมไว้นั้น จะสามารถทานเข้าคู่กันได้อย่างลงตัว
ก่อนจบการสนทนาเรื่องโภชนาการบนเที่ยวบิน เชฟแอนโทนี่ก็ได้ฝากติดตลกทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “สิ่งต่างๆ ที่เล่ามาทั้งหมดนี้จะไม่มีความหมายเลยถ้าหากคุณเลือกที่จะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์” (ฮาาาาา) แต่ก็อย่างว่า ถ้าได้บินสิงคโปร์แอร์ไลน์สไปนิวยอร์คทั้งที พร้อมกับรายการอาหารที่สุดแสนจะพิถีพิถัน แถมได้ทานคู่กับ Wine List ดีๆ แบบนี้ เป็นใครจะไม่ดื่มละ จริงไหม?
Miracle of Technology
“เราได้พาเครื่องบินไปจนถึงศักยภาพสูงสุดในแง่ของรัศมีปฎิบัติการ” กัปตันลีออง รองประธานฝ่ายปฎิบัติการบินและหัวหน้าฝูงบินแอร์บัส A330/A350 สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ส กล่าวกับ Friend Tell Pro อย่างภูมิใจ กับสิ่งที่เครื่อง A350-900URL ถูกออกแบบมาให้มันเป็น และแน่นอนว่าเครื่องบินก็สามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างเต็มศักยภาพ เป็นไปด้วยความปลอดภัยตามข้อกำหนดของบริษัทผู้ผลิตและหน่วยงานด้านการบินที่กำกับดูแล ซึ่งต้องขอบคุณความมหัศจรรย์ของเทคโนโลยีการบินในปัจจุบันที่ทำให้การบินที่ในอดีตไม่อาจเป็นไปไม่ได้สามารถเกิดขึ้นได้จริง
ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของประเทศสิงคโปร์และเมืองนิวยอร์คที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกันพอดีบนแผนที่โลก ดังนั้นเส้นทางบินที่ดีที่สุดจึงไม่ใช่การบินอ้อมโลกไปทางซ้ายหรือขวาตามปรกติ แต่จะใช้การบินขึ้นเหนือตัดผ่านขั้วโลก (North Pole) ที่มีระยะทางสั้นกว่าแทน โดยใช้ประโยชน์จากกระแสลม Jet Stream บนความสูงกว่า 40,000 ฟุต ที่อาจมีความเร็วได้ถึง 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง ช่วยหนุนส่งท้ายให้เครื่องบินสามารถไปถึงที่หมายปลายทางได้เร็วและประหยัดน้ำมันได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าในแต่ละวันนั้นกระแสลมย่อมมีความแตกต่างกัน ดังนั้นข้อมูลสภาพอากาศแบบ Real Time จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก (เส้นทางการบินในแต่ละวันจึงอาจไม่เหมือนกัน)
“การปรับเปลี่นเส้นทางเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาที่ทำการบิน เพื่อหาเส้นทางบินที่มีประสิทธิภาพที่สุดในแต่ละวัน” กัปตันลีออง กล่าวเสริม ซึ่งข้อมูลสภาพอากาศและปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการคำนวนทั้งหมดนั้นมีอยู่เยอะมากเกินกว่าขีดความสามารถที่มนุษย์จำสามารถประมวลผลได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นระบบ Lido Navigation System จึงถูกนำมาใช้งานในจุดนี้เพื่อค้นหาเส้นทางบินที่ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด และประหยัดเชื้อเพลิงมากที่สุด (Most Efficiently Route) เพราะบริหารจัดการเชื้อเพลิงนั้นถือเป็นหนึ่งในหัวใจของเส้นทางบินระยะไกล เนื่องจากเครื่องบินนั้นจะต้องแบกน้ำหนักของ “น้ำมัน” ส่วนหนึ่งขึ้นไปเผาผลาญเพื่อใช้ในการขน “น้ำมัน” ส่วนที่เหลือไปให้เพียงพอต่อการใช้งานจนถึงจุดหมายปลายทาง ซึ่งระยะทางบินกว่า 16,700 กิโลเมตรเส้นทางนี้ นักบินจะต้องเติมน้ำมันไปมาถึง 100 กว่าตันด้วยกัน หรือคิดเป็น 60% ของน้ำหนักทั้งหมดที่ต้องบรรทุกไป
และด้วยประสิทธิภาพของขุมกำลัง Rolls-Royce Trent XWB จำนวน 2 เครื่องยนต์ ที่มีความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติงานสูงมาก จึงทำให้เครื่องบินสามารถเดินทางในเส้นทางบินสุดขั้วที่ต้องตัดผ่านขั้วโลกเหนือได้อย่างราบรื่น บนเพดานบินที่ระดับความสูง 40,000 ฟุต ซึ่งอยู่สูงกว่าสภาพอากาศเบื้องล่าง นอกจากนั้น การบินที่ความสูงระดับนี้ยังช่วยให้เครื่องยนต์สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เดินทางได้ไวขึ้น และประหยัดเชื้อเพลิงได้มากกว่าเดิมอีกด้วย โดยในกรณีที่จำเป็น เครื่องบินได้รับการรับรองให้สามารถปฏิบัติงานด้วยเครื่องยนต์เพียงเครื่องเดียว (ETOPs) ต่อเนื่องได้ยาวนานถึง 180 นาที (3 ชั่วโมง) ด้วยกัน ซึ่งเพียงพอที่จะให้เครื่องบินเดินทางไปยังลงสนามบินสำรองตามแผนการบินที่วางเอาไว้ได้อย่างปลอดภัย (ตามจริงแล้วเครื่องยนต์รุ่นดังกล่าวได้รับรอง ETOPs อยู่ที่ 240 นาที แต่กฎของกรมการบินพลเรือนของสิงคโปร์บังคับเอาให้ได้ไม่เกิน 180 นาทีเท่านั้น) ซึ่งจากเทคโนโลยีทั้งหมดที่กล่าวมานี่เอง จึงทำให้สิงคโปร์แอร์ไลน์ถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นแถวหน้าของอุตสาหกรรมการบิน ที่เข้ามาช่วยวางมาตรฐานใหม่ของการเดินทางระยะไกลรายหนึ่งของโลกเลยทีเดียว (Best Standard for Long Haul Flight)
เบื้องหลังบริการชั้นเลิศคือ “การทำงานเป็นทีม”
อย่างที่ทราบกันดีว่ากว่าที่เครื่องบินหนึ่งลำจะสามารถออกเดินทางได้นั้น ต้องไปประกอบไปด้วยการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ภาคพื้น เจ้าหน้าเติมน้ำมัน เจ้าหน้าที่ยกกระเป๋า หรือเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ เป็นต้น แต่เมื่อเครื่องทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าไปแล้ว หน้าที่สำคัญในการดูแลผู้โดยสารกว่า 161 ชีวิตบนเที่ยวบินพาณิชย์ที่ยาวที่สุดในโลกเที่ยวบินนี้ ได้รับการดูแลโดยทีมลูกเรือของชั้นเลิศของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์สกว่า 17 ชีวิตด้วยกัน ประกอบไปด้วนักบิน 4 คน (กัปตัน 2 คน นักบินผู้ช่วย 2 คน) และพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินอีก 13 คน ที่จะต้องแบ่งหน้าที่ในการทำงานกันเป็นทีม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพนักงานทุกคนจะได้มีช่วงเวลาของการพักผ่อนเพียงพอ และพร้อมที่จะให้บริการแก่ผู้โดยสารได้อย่างราบรื่นตลอดการเดินทาง
โดยส่วนของนักบินนั้นจะแบ่งการทำงานกันเป็นกะ ผลัดละ 3-5 ชั่วโมงต่อครั้ง เพื่อให้อีกทีมได้มีเวลาพักผ่อน ก่อนจะสลับหมุนเวียนหน้าที่กันอย่างนี้ไปจนกว่าเครื่องบินจะถึงจุดหมายปลายทาง แต่ในส่วนของลูกเรือนั้นจะมีความแตกต่างออกไปสักหน่อย คือแบ่งการทำงานออกเป็นแค่สองกะเท่านั้น ผลัดกันทำงานทีมละครึ่งทางไปจนถึงที่หมายปลายทาง ซึ่งในเครื่องบินแอร์บัส A350-900ULR นั้นได้รับการออกแบบให้มีห้องนอนสำหรับการพักผ่อนของลูกเรือตั้งอยู่ด้านบนเหนือพื้นที่ของห้องโดยสาร
“ทำตัวเองให้รู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา” นางสาวรานี ลูกเรือสาวสวย Singapore Girl ผู้มากประสบการณ์กว่า 10 ปี และเป็นหนึ่งในผู้ปฏิบัติงานในเที่ยวบินปฐมฤกษ์ SQ21 ได้บอกเล่าให้กับ Friend Tell Pro ได้ฟังถึงความรู้สึกบนเที่ยวบินประวัติศาสตร์ในวันนั้น เพราะการทำงานบนเที่ยวบินแบบ Red-Eye Flight ที่ออกเดินทางในตอนกลางคืนตรงกับช่วงเวลานอนปรกติของคนส่วนใหญ่ และเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางในช่วงเช้าของวันถัดไปนั้นจะไปรบกวนระบบเวลาของร่างกาย ดังนั้นเพื่อไม่ให้ร่างกายอ่อนล้าจนเกินไป ลูกเรือที่มาปฎิบัติหน้าที่จึงต้องพักผ่อนให้เพียงพอตามกฎของสายการบินก่อนการมาทำงานทุกครั้ง และพยายามกระตุ้นให้ตัวเองตื่นตัวเพื่อพร้อมสำหรับการปฎิบัติงานอยู่ตลอดเวลา
โดยหลังจากจบไฟลท์ ลูกเรือทุกคนที่ปฏิบัติงานกับเครื่อง A350-900URL จะได้รับวันหยุดเป็นเวลาอย่างน้อย 2 วัน (48 ชั่วโมง) ซึ่งถือว่ามีความพิเศษกว่าเส้นทางบินอื่นที่อาจจะได้วันหยุดเพียงแค่ 1 วันเท่านั้นก็สามารถกลับมาบินต่อได้ เพราะเนื่องจากเที่ยวบินดังกล่าวต้องเดินทางผ่านหลาย Time Zone ดังนั้น ชั่วโมงพักผ่อนที่มีมากขึ้นก็เพื่อให้มั่นใจได้ว่าลูกเรือจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ คลายความเหนื่อยล้าจากทั้งด้านร่างกายและจิตใจ และพร้อมไปปฎิบัติงานในเที่ยวบินอื่นต่อๆ ไปได้นั่นเอง “เพราะถ้าเรามีความสุขเราก็จะทำงานได้ดี และสามารถส่งต่อความรู้สึกดีๆให้กับผู้โดยสารได้มีความสุขไปด้วย” นางสาวรานี กล่าวทิ้งท้ายก่อนจบการสนทนา
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวเบื้องหลังของ “เที่ยวบินพาณิชย์ที่ยาวที่สุดในโลก” ไฟลท์ SQ21/22 สิงคโปร์-นิวยอร์ค ที่เชื่อว่าน้อยคนนักจะมีโอกาสได้ทราบถึงที่มาที่ไปและรายละเอียดของความใส่ใจเล็กๆน้อยๆ ที่แทรกอยู่ในทุกอณูของการให้บริการ เห็นแบบนี้แล้ว Admin ก็ต้องขอปรบมือดังๆ ให้กับทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังทุกคนจริงๆ ที่เนรมิตให้เที่ยวบินดังกล่าวออกมาดีงามสมศักดิ์ศรีเจ้าของรางวัลสายการบินที่ดีที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของ Skytrax ว่าแล้วเตรียมเข้าเว็บสิงคโปร์แอร์ไลน์ส มองหาตั๋วโปรโมชั่นดีๆ บินตรงไปเที่ยวนิวยอร์คกับเค้าบ้างดีกว่า 🙂